ภาควิชาโสต ศอ นาสิก และลาริงซ์วิทยา ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2519 โดยแยกตัวจากภาควิชาศัลยศาสตร์ มีอาจารย์นายแพทย์สมชาติ แสงสอาด เป็นแพทย์คนแรกและคนเดียวของภาควิชาที่ปฏิบัติงานในขณะนั้นอยู่ที่โรงพยาบาลขอนแก่น และคณะแพทยศาสตร์เดิม (คณะสาธารณสุขศาสตร์ปัจจุบัน) การปฏิบัติงานครั้งแรกเน้นหนักในด้านการบริการรักษาผู้ป่วย เพราะขณะนั้น นศพ.รุ่นแรกเรียนอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ และทาง Preclinic เป็นส่วนใหญ่ งานสอนจึงมีเล็กน้อยโดยช่วยภาควิชาอื่นสอนวิชาที่เกี่ยวข้องกับโรคทางหู คอ จมูก ต่อมาในปี 2521 มีนักศึกษาแพทย์รุ่นแรกซึ่งขึ้นมาเรียนในชั้นปีที่ 6 และ เป็นปีเดียวกันที่ภาควิชาได้ย้ายจากโรงพยาบาลขอนแก่นมาปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลกระท่อม (Hut Hospital) ซึ่งเดิมเป็นที่บำบัดผู้ป่วยโรคเรื้อนและได้ดัดแปลงมาเป็นโรงพยาบาล (คณะนิติศาสตร์ในปัจจุบัน) ขณะนั้นอาจารย์แพทย์ยังคงไปช่วยปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลขอนแก่นอยู่ประมาณสัปดาห์ละ 1 วัน
ปี พ.ศ. 2522 และ 2523 ภาควิชาได้รับบรรจุแพทย์เป็นอาจารย์แพทย์ปีละ 1 ท่าน ส่งไปฝึกอบรมเป็น แพทย์เฉพาะทางโสต ศอ นาสิก วิทยา ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเป็นเวลา 3 ปี
ปี 2524 ภาควิชาฯ ได้รับการบรรจุอาจารย์ทาง Audiology 1 ท่าน ซึ่งได้มาสอนและให้ความรู้ทาง Audiology แก่นักศึกษาแพทย์ และในปีเดียวกันนี้ก็ได้รับการบรรจุธุรการภาควิชา 1 ตำแหน่ง
ปี 2525 และ 2526 อาจารย์แพทย์ที่ภาควิชาได้ส่งไปฝึกอบรมสำเร็จจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้มาช่วยปฏิบัติงานทำให้การสอนและการบริการรักษาผู้ป่วยโรค หู คอ จมูก เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ปลายปี 2525 โรงพยาบาลศรีนครินทร์ได้สร้างเสร็จเป็นบางส่วนและสามารถใช้ปฏิบัติการได้บ้าง ภาควิชาจึงได้ย้ายสำนักงานภาควิชามาอยู่ที่รพ.ศรีนครินทร์ที่ตึกผู้ป่วยชั้น 2 เป็นการชั่วคราว แต่การดูแลรักษาผู้ป่วย และการเรียนการสอนยังคงทำเป็นส่วนใหญ่ที่โรงพยาบาล Hut
ปี 2527 โรงพยาบาลศรีนครินทร์และคณะแพทยศาสตร์ได้สร้างเกือบเสร็จแล้ว และสามารถปฏิบัติการ ได้มากขึ้น ภาควิชาจึงได้ย้ายสำนักงานมาประจำที่อาคารวิทยาศาสตร์คลินิก 2 ชั้น 5 โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จนถึงปัจจุบัน
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมาทางภาควิชาได้ส่งแพทย์ที่จบจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และจากที่อื่นซึ่งส่วนใหญ่จะสมัครเป็นแพทย์ผู้ให้สัญญา ปฏิบัติงานใช้ทุนในภาควิชาฯ จนครบ 3 ปี แล้วจึงส่งไปฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทางโสต ศอ นาสิกวิทยา แล้วกลับมาเป็นอาจารย์แพทย์
ภาควิชาฯ วางแผนที่จะเปิด Residency training Program ในปี 2538 แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะเกิดปัญหาเศรษฐกิจฟุ้งเฟ้อ เกิดโรงพยาบาลเอกชนขึ้นมากมาย ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทำให้ในช่วงปี พ.ศ. 2532 - 2537 ภาควิชาฯ ขาดแคลนอาจารย์ มีอาจารย์ปฏิบัติงานอยู่ในภาควิชาประมาณ 4 ท่าน จากจำนวนอาจารย์ที่ต้องการ 12-14 คน แต่ตั้งแต่ปี 2540 ขึ้นมา ก็เริ่มมีแพทย์กลับเข้ามาสมัครเป็นอาจารย์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน ภาควิชาฯ มีอาจารย์แพทย์ 14 คน และอาจารย์ทาง Audiology และ Speech therapy อย่างละ 1 ท่าน และภาควิชาฯ ก็สามารถเปิด Residency training Program ได้ในปี 2540
ปัจจุบันภาควิชาเปลี่ยนชื่อเป็นภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา มีสาขาความเชี่ยวชาญเฉพาะ 7 สาขาได้แก่ Otology, Audiology, Speech, Voice, Neuro-Otology, Head and Neck Cancer, Allergy and Rhinology สามารถให้การบริการตรวจรักษา การเรียนการสอน และการวิจัยในสาขาความเชี่ยวชาญเฉพาะดังกล่าว โดยการวิจัยมีทั้งงานวิจัยทางคลินิก ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารต่าง ๆ และมีการวิจัยร่วมกับสหสาขา เช่น ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ภาควิชารังสีวิทยา กลุ่มวิจัยเฉพาะ เช่น ศูนย์การดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้โครงการพระราชทานตะวันฉาย Hearing International กลุ่มวิจัยมะเร็งไทรอยด์ และหน่วยมะเร็ง เป็นต้น
ภาควิชาฯ มีการสอนนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5 ในวิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา โดยหมุนเวียนกลุ่มละ 1 เดือน มุ่งเน้นให้มีความรู้ในการดูแลรักษาโรคทางหู คอ จมูกที่พบบ่อย และภาวะฉุกเฉิน มีการสอนในลักษณะ Problem-Based Learning เพื่อฝึกทักษะการแก้ปัญหา และ ใช้เวชศาสตร์เชิงประจักษ์ (Evidence-Based Medicine) ในการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม รวมถึงสอนคุณลักษณะแพทย์ที่ดี การระวังข้อผิดพลาดเพื่อป้องกันปัญหาการฟ้องร้อง มีการฝึกหัตถการพื้นฐาน ได้แก่ Nasal packing และ Tracheostomy ในหุ่นจำลองซึ่งทางภาควิชาฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยโสตทัศนอุปกรณ์จัดทำขึ้นเอง เพื่อให้นักศึกษาแพทย์มีทักษะก่อนไปปฏิบัติในผู้ป่วยจริง นักศึกษาแพทย์ทุกกลุ่มได้ออกหน่วยบริการสังคมตรวจหูผู้ทำงานโรงงานใน จ.ขอนแก่น ร่วมกับนักศึกษาแพทย์กองเวชศาสตร์ชุมชน
ในด้านการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางโสต ศอ นาสิกวิทยา มีการเปิดอบรมหลักสูตรแพทย์ใช้ทุน และแพทย์ประจำบ้าน โดยมุ่งเน้นให้ผู้ผ่านการฝึกอบรมมีความรู้ความสามารถในการตรวจรักษา และผ่าตัดทางโรคหู คอ จมูก แก้ไขปัญหาในภาวะฉุกเฉิน มีการค้นคว้าหาความรู้และรักษาผู้ป่วยโดยนำความรู้ด้านเวชศาสตร์เชิงประจักษ์มาใช้และทำงานวิจัยได้ อีกทั้งเน้นให้มีคุณธรรม จริยธรรมเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง และสามารถไปทำงานในพื้นที่ความรับผิดชอบต่อไป กิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะด้านการผ่าตัดก่อนไปปฏิบัติในผู้ป่วยจริงที่ทางภาควิชาฯได้จัดอบรมเอง ได้แก่ Endoscopic Sinus Surgery in Fresh Cadaver Workshop, Temporal Bone Dissection, Neck Dissection และ Basic ENT and Basic Surgical skill แพทย์ผู้ฝึกอบรมมีโอกาสได้ออกหน่วยบริการสังคม โดยออกหน่วยตรวจหูผู้ทำงานโรงงานใน จ.ขอนแก่น ร่วมกับนักศึกษาแพทย์ และออกหน่วยผ่าตัดหูร่วมกับมูลนิธิหูคอจมูกชนบท และสภากาชาดไทย
ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยาจะมุ่งไปสู่การเป็น Research-Based Department โดยเป็นศูนย์กลางทางด้านองค์ความรู้ในภูมิภาค ทำการวิจัยเพื่อหาความรู้ใหม่ที่ตอบสนองปัญหาสาธารณสุขในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และของประเทศ ควบคู่ไปกับการให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยทางโสต ศอ นาสิก ที่ครบวงจร และให้บริการแก่สังคมต่อไป